สหรัฐฯ พัฒนา "อวัยวะบนชิป" เพื่อทดสอบยาโดยไม่ต้องใช้สัตว์ทดลอง 2825 Views

รายละเอียด

สรุปและเรียงเรียงโดย Tech2Biz

ที่มา https://blogs.fda.govwww.voathai.com


organ-on-chips

ภาพจาก https://emulatebio.com


เป็นที่ทราบกันดีว่า ในกระบวนการพัฒนา ยา สักหนึ่งตัวขึ้นมานั้นมีขั้นตอนที่ซับซ้อนยุ่งยาก ใช้ระยะเวลาและงบประมาณสูงมาก โดยขั้นตอนสำคัญที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็คือ "การทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในสัตว์และคน" ก่อนที่ยาจะผลิตและจำหน่ายจริงได้ โดยต้องผ่านการทดสอบในสัตว์ก่อนจึงจะเข้าสู่ช่วงการทดสอบในคน 

 

ปัจจุบันเริ่มมีกระแสต่อต้านการวิจัยและทดสอบในสัตว์มากขึ้น เนื่องจากประเด็นด้านศีลธรรมและการทรมานสัตว์ นอกจากนี้ ในหลายกรณีที่บริษัทวิจัยและพัฒนายาได้ดำเนินการวิจัยทดสอบในสัตว์เสร็จแล้ว กลับใช้ไม่ได้ผลหรือมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายเมื่อนำมาใช้ในคน ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและเสียเวลาอย่างมาก 

 

ถือเป็นข่าวดีของบริษัทผลิตยาและคนรักสัตว์ที่เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US FDA)  ได้ร่วมมือกับบริษัท Emulate Inc. ในการพัฒนา “อวัยวะบนชิป" (organ-on-chips) ซึ่งสามารถใช้ทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาได้รวดเร็วและแม่นยำ ช่วยลดขั้นตอนการวิจัยและพัฒนายา รวมทั้งช่วยรักษาชีวิตสัตว์ที่นำมาทดลอง  Tech2Biz ขอสรุปประเด็นข่าวและจุดเด่นของเทคโนโลยีนี้ดังนี้ 

  • อวัยวะบนชิป (organ-on-chips) ถูกพัฒนาโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและบริษัท Emulate Inc.  มีลักษณะคล้ายชิปคอมพิวเตอร์ ขนาดเล็กเท่าแบตเตอรี่ AA บรรจุเซลล์มีชีวิตของมนุษย์เอาไว้เพื่อให้ทำงานและตอบสนองได้เช่นเดียวกับอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งเป็นการเฉพาะ 
  • ในกรณีของปอด เซลล์ในตัวชิปจะทำหน้าที่เป็นถุงลม สามารถหายใจเอาอากาศเข้าไปและขยายตัวได้ สามารถสูดเอาอากาศและของเหลวเข้าไปได้เหมือนปอด ในกรณีของหัวใจ เซลล์ในชิปจะทำหน้าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจที่สูบฉีดเลือดและมีจังหวะการเต้นของหัวใจ ส่วนชิปที่บรรจุเซลล์อวัยวะระบบย่อยอาหารจะลอกเลียนการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ของมนุษย์

ส่วนประกอบภายในของ organ-on-chips


ภาพจาก https://emulatebio.com


  • การทดสอบยาโดยใช้ชิปลอกเลียนการทำงานของอวัยวะมนุษย์ให้ผลการทดสอบที่แม่นยำกว่าการทดสอบกับสัตว์ทดลอง 
  • organ-on-chips นี้สามารถทำงานเชื่อมต่อเข้าด้วยกันและทำงานพร้อมกันเป็นระบบเหมือนการทำงานของอวัยวะในร่างกายมนุษย์ เพียงแต่อยู่ในรูปแบบของชิปเท่านั้น
  • ชิปเลียนแบบการทำงานของร่างกายจะช่วยให้นักวิจัยสามารถทดสอบผลของยาต่ออวัยวะแต่ละส่วน อาทิตรวจหาผลเสียของยาต่อตับในขณะที่ติดตามดูผลการรักษาต่ออวัยวะเป้าหมาย 
  • organ-on-chips ถือเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านวิจัยและพัฒนายาครั้งสำคัญ ซึ่งหากประสบความสำเร็จจะก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้านทั้งการตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆ  ช่วยลดขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา ทำให้ได้ยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพในระยะเวลาสั้นลง รวมทั้งสร้างโอกาสให้เกิดการวิจัยและพัฒนาตัวยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์มากขึ้นในอนาคต 
  • ล่าสุด องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (US FDA) ได้ประกาศความร่วมมือกับบริษัท Emulate ในการทดสอบการใช้ประดิษฐกรรมนี้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อดูความเป็นไปได้ในการใช้ชิปนี้แทนการทดลองในสัตว์ในอนาคต โดยเริ่มจากชิปเลียนแบบการทำงานของตับ (liver) ก่อนขยายผลสู่การทดสอบในชิปเลียนแบบการทำงานสำหรับอวัยวะอื่นๆ 

 

นับเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ซึ่งไม่เพียงสร้างประโยชน์ต่อสุขภาพมนุษย์เท่านั้น  แต่ยังช่วยรักษาชีวิตสัตว์โดยลดจำนวนการทารุณกรรมและฆ่าสัตว์ที่นำมาใช้ในการทดลองด้วย  

Tech2biz
Admin Tech2biz